สารจากคณะกรรมการ

ในช่วงปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างล่าช้า การกลับมาแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ระลอกใหม่ นับตั้งแต่ปลายปี 2563 และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ขยายเป็นวงกว้างในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 ส่งผลให้ หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกจำกัดภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดเป็นเวลาหลายเดือน นอกจากนี้ การระบาดยังกระจายไปสู่ภาคธุรกิจ ทำให้เกิดภาวะชะงักงันในสายการผลิตในบางภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก การระบาดในประเทศคลี่คลายลง มีการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมที่เข้มงวด กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ ส่วนการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนในช่วงปลายปีกลับมาสร้างความกังวลต่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 จึงมีแนวโน้มเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 1.2% จากที่หดตัวรุนแรงในปี 2563 ที่-6.1%

ด้านการส่งออกนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปี 2564 โดยสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ในอัตราสูงที่ประมาณ 16.5% จากปีก่อนที่หดตัว –6.5% ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก สะท้อนจากการเติบโตของตลาดส่งออกที่กระจายตัวทั้งในด้านตลาดและหมวดสินค้า อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากนโยบายการทำงานที่บ้าน (Work from Home: WFH) และความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นมากในช่วงปลายปีได้หนุนให้สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องเติบโตได้ดี

ด้านการใช้จ่ายภายในประเทศได้แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐแต่ยังอ่อนแอ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.1% จากที่หดตัว -1.0% ในปี 2563 แม้ว่าการดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ส่งผลให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงกระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ของผู้ใช้แรงงาน ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรุดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเริ่มฟื้นตัวในช่วงที่สถานการณ์การระบาดบรรเทาลง ผนวกกับปัจจัยหนุนจากมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงปลายปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของการส่งออก โดยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 4.2%

ด้านค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสามของปีเนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยต้องประสบกับการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ผนวกกับเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) และเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่เคยคาดการณ์เดิม นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง เช่น เงินทุนสำรองระหว่างของไทยที่อยู่ในระดับสูง นับเป็นปัจจัยที่ช่วยรองรับความผันผวนต่อตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ในระดับหนึ่ง

ท่ามกลางปัจจัยเชิงลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินบาทที่ผันผวน ต้นทุนการส่งออกด้านโลจิสติกส์ที่ถีบตัวสูงขึ้นเป็นทวีคูณจากราคาค่าระวางเรือที่สูงขึ้น และปัญหาการจัดการระบบ Supply Chain ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้าของบริษัทฯ บริษัทฯ ต้องบริหารงานภายใต้การจัดการความเสี่ยงใหม่ๆ มากมาย ที่ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทฯ ต้นทุนขายและต้นทุนการให้บริการมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ราคาชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่วนใหญ่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนวัตถุดิบ การบริหารกำลังคน การบริหารงานผลิต ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการขึ้นค่าระวางสินค้า ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น อย่างมากจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ภายในโรงงาน ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 7,898 ล้านบาท ลดลง 388 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมาที่ร้อยละ -4.7 ซึ่งลดลงจากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น พัดลมไฟฟ้า และพัดลมระบายอากาศ ทั้งตลาดภายในประเทศ ตลาดญี่ปุ่น และตลาดต่างประเทศอื่น ส่วนผลิตภัณฑ์ปั๊มน้ำยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดไทย ในขณะที่บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิที่ต่ำลงอย่างมากจากปัจจัยเชิงลบดังกล่าวที่ 337 ล้านบาท ลดลงจาก 998 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563

คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเห็นควรเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2565 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีงบประมาณ 2564 ในอัตราหุ้นละ 8.55 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50.23 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษี โดยเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.7% จากปี 2564 ที่เติบโตเพียง 1.2% และมีแนวโน้มที่มูลค่าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการระบาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญมาจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ ความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนที่ช่วยหนุนให้ไทยและหลายๆ ประเทศสามารถเปิดประเทศได้กว้างขวางขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและผลเชิงบวกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคส่งผลดีต่อภาคส่งออกของไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง การปรับตัวของภาคธุรกิจอาจนำไปสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีทิศทางปรับดีขึ้นแต่ยังคงเป็นระยะแรกของการฟื้นตัว แต่การใช้จ่ายอาจขยายตัวได้จำกัดเนื่องจากยังมีความเปราะบางในตลาดแรงงาน และคาดว่าค่าจ้างเฉลี่ยโดยรวมในปี 2565 แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด .

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 อาทิ ความไม่แน่นอนของการระบาดของไวรัส COVID-19 จากการกลายพันธุ์กระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ความเปราะบางของตลาดแรงงานและปัญหาหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ผลข้างเคียงจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติของประเทศแกนหลักทำให้เกิดความผันผวนในตลาดทุนและตลาดการเงิน ภาวะข้อจำกัดด้านอุปทานโลกที่อาจเป็นปัญหายืดเยื้อไปอีกระยะซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศที่อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เหล่านี้เป็นปัจจัยเชิงลบต่างๆ ที่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างไรก็ดีบริษัทฯ ยังคงมุ่งสร้างอัตราการเจริญเติบโตของรายได้และปรับปรุงกำไรให้ดีขึ้น เน้นกลยุทธ์การขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม วิเคราะห์และปรับปรุงต้นทุนการผลิตผ่านกิจกรรมวิศวกรรมคุณค่า (VE; Value Engineering) พัฒนาศักยภาพการผลิตและประกันคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่องโดยการลงทุนในโครงการ e-f@ctory ที่ผสานรวมระบบการผลิต และ IT เข้าด้วยกันโดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อของข้อมูล แบบ Real-time ในทุกระดับ ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของพนักงานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้บริษัทฯ ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการและจริยธรรมที่ดี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างยั่งยืน

ในนามของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะผู้บริหารตลอดจนพนักงานของบริษัทฯ ใคร่ขอขอบพระคุณพันธมิตรทางธุรกิจ ท่านผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย ที่ได้กรุณาให้ความไว้วางใจและให้การสนับสนุนแก่บริษัทฯ ด้วยดีเสมอมา พวกเราจะมุ่งมั่นและทุ่มเททำงานหนักเพื่อยกระดับบริษัทฯ ของเราให้ดีขึ้นยิ่งขึ้น เราจะเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของบริษัทฯ อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้เราสามารถปรับตัวในสภาวะตลาดที่ผันผวนและรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ ตามที่ผู้ถือหุ้นให้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนเรามาโดยตลอด ผมขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้

นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ
ประธานกรรมการบริษัทฯ